ประวัติเจ้าเมืองพังงา ชีวิตราชการของท่าน ได้รับบรรดาศักดิ์ที่พระภักดีบริรักษ์รับราชการอยู่กับท่านบิดาที่เมืองนครศรีธรรมราช เมื่อเจ้าพระยานคร (น้อย) ยกกองทัพไปตีเมืองไทรบุรี หลังจากปราบปรามเมืองไทยบุรีไว้ในอำนาจสิทธิ์ขาดแล้ว เจ้าพระยานคร (น้อย) ได้ให้พระภักดีบริรักษ์เป็นผู้รักษาเมืองไทรบุรี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๖๙ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งพระภักดีบริรักษ์เป็นพระยาไทรบุรี มีชื่อบรรดาศักดิ์และราชทินนามว่า พระยาอภัยธิเบศรมหาประเทศราชธิบดินทรอินทรไอสวรรย์ขันณฑเสมามาตยานุชิตสิทธิสงครามรามภักดีพิริยพาหะ ปี พ.ศ. ๒๓๘๑ ตวนกูมหะหมัดสหัส และตวนกูอับดุลละ หลานพระยาไทรบุรี (ปะแรงัน) ได้ชักชวนรวบรวมพวกแขกร่วมคิดได้เป็นอันมาก ยกจู่โจมเข้าตีเมืองไทรบุรีในเวลาไทยเผลอ ไทยรักษาเมืองไว้ไม่ได้ พระยาอภัยธิเบศร ฯ (แสง) ต้องถอยมาตั้งมั่นที่เมืองพัทลุง ขณะนั้นเจ้าพระยานคร (น้อย) อยู่ในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระศรีสุลาไลยสมเด็จพระพันปีหลวง ครั้นเมื่อทราบข่าวกบฏ ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอทัพกรุงไปช่วยเหลือราชการศึก ๓,๐๐๐ คน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงอนุญาตโดยให้พระยาศรีพิพัฒน์ เป็นแม่ทัพยกทัพเรือลงไปช่วยปราบปรามพวกกบฏ ส่วนเจ้าพระยานคร (น้อย) รีบเดินทางกลับนครศรีธรรมราชเกณฑ์คนเมืองนคร และเมืองพัทลุงจัดเป็นกองทัพ ขณะเตรียมการทัพอยู่นั้น เจ้าพระยานคร (น้อย) ซึ่งป่วยมาแต่กรุงมาถึงเมืองนครไข้หนักลง จึงมอบหมายให้พระยาอภัยธิเบศร ฯ (แสง), พระวิชิตสรไกร (กล่อม) และพระเสนานุชิต (นุช) ซึ่งเป็นบุตรเจ้าพระยานคร (น้อย) ทั้งหมด ยกกองทัพไปตีเมืองไทรบุรี เจ้าพระยานคร (น้อย) อาการไข้ยิ่งหนักลง เป็นโรคลมวิงเวียนเซื่องซึม มีอาการหอบ ครั้นโรคกำเริบขึ้นนิ่งเป็นใบ้ไป แล้วขาดใจ ถึงแก่อสัญกรรม ณ วันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีกุน จุลศักราช ๑๒๐๑ เวลา ๕ ทุ่มเศษ กองทัพไทยภายใต้การบังคับบัญชาของพระยาอภัยธิเบศร ฯ (แสง) ยกทัพลงไปตีเมืองไทรบุรีได้รับชัยชนะภายในเวลาอันรวดเร็ว ก่อนที่กองทัพเรือจากกรุงเทพ ฯ ลงไปถึงเมืองสงขลา เมื่อเสร็จการศึกเมืองไทรบุรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระราชดำริว่าเมื่อสิ้นเจ้าพระยานคร (น้อย) หามีผู้ใดที่มีความสามารถบัญชาการศึกทางหัวเมืองปักษ์ใต้เข้มแข็งเหมือนเจ้าพระยานคร (น้อย) ได้ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้แยกเขตแขวงเมืองไทรบุรีออกเป็น ๑๒ มุเกม (ทำนองเดียวกับอำเภอในปัจจุบันนี้) จัดเป็น ๔ เมือง โปรดให้เลือกสรรพวกแขกซึ่งมีความสวามิศักดิ์ตั้งเป็นผู้ว่าราชการทั้ง ๔ เมือง ต่างไม่ขึ้นแก่กัน โดยฟังบังคับบัญชาโดยตรงจากเมืองนครศรีธรรมราชทั้ง ๔ เมือง ขณะนั้นเมืองพังงาไม่มีตัวผู้ว่าราชการ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายพระยาอภัยธิเบศร ฯ (แสง) มาเป็นที่พระยาบริรักษ์ภูธรบวรสวามิภักดิศักดิเสนามาตยาธิบดีพิริยพาหะ ผู้ว่าราชการเมืองพังงา
ขอขอบคุณข้อมูลจาก (พังงา ชุมชนอยู่ดีมีสุข, 24 มิถุนายน 2557)